วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2561

ชีวิตทางโลกน่าจะสบายกว่า ทำไมมาเลือกบวชเป็นพระ?



"พระที่วัดพระธรรมกายหลายรูปก็จบการศึกษาสูง เป็นปัญญาชน ทำไมถึงไม่อยู่ใช้ชีวิตทางโลกที่สะดวกสบาย เหมือนคนทั่วไป ทำไมถึงเลือกที่จะบวช และมาบวชวัดพระธรรมกายที่งานก็เยอะ ข่าวก็เยอะ ลองมาฟังตัวอย่างจากมุมมองของพระที่บวชวัดพระธรรมกายมาหลายพรรษาจริง ๆ ซึ่งก่อนบวชก็เป็นสัตวแพทย์ แต่ก็เลือกที่จะมาใช้ชีวิตนักบวชที่วัดพระธรรมกาย"



เรื่องเล่าเข้าใจธรรม
ตอน ทำไมท่านถึงบวชที่วัดพระธรรมกาย เพราะติดสบายรึเปล่า?
ตอนที่ 1


ที่มาของภาพ : https://photoofdays.blogspot.com/

        เมื่อนายสัตวแพทย์อนาคตไกล ตัดสินใจจะมาเป็นพระภิกษุ ด้วยอายุเพียง27ปี จนปัจจุบันเป็นพระมหาเถระที่บวชมาแล้ว22พรรษา อะไรเป็นสาเหตุให้ท่านออกบวชที่วัดพระธรรมกาย และใช้ชีวิตอยู่ในเพศสมณะโดยไม่คิดจะกลับไปอยู่ทางโลกอีก ท่ามกลางกระแสของความไม่เห็นด้วยจากคนบางกลุ่ม ที่มองว่าวัดพระธรรมกายไม่เหมือนวัดในพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป มาค้นหาคำตอบจากพระอาจารย์จุมพล ปุญฺญพโล พระอาจารย์ผู้สอนวิชาพระไตรปิฎกศึกษาและเป็นพระอาจารย์อบรมบุคคลากรภายในวัดพระธรรมกาย

ทำไมหลวงพี่ถึงตัดสินใจมาบวชที่วัดพระธรรมกาย?

หลวงพี่อาจจะพูดในฐานะที่เป็นตัวเองนะ คงจะไม่ได้เป็นตัวแทนของพระทั้งวัด ซึ่งในแง่ของหลวงพี่เองคือความตั้งใจจริงๆเกิดจาก ความสนใจในการนั่งสมาธิ เพราะว่าตอนเรามาสิ่งที่เราจะต้องเจอทุกครั้งจากที่วัดก็คือ หลวงพ่อจะสอนเรื่องการนั่งสมาธิ



ที่มาของภาพ : https://photoofdays.blogspot.com/

พอมีพิธีกรรม อย่างเช่นที่วัดจัดทุกวันอาทิตย์ จะนั่งสมาธิทั้งในช่วงสายและบ่าย ก็ทำให้เรารู้สึกว่า การนั่งสมาธิเป็นสิ่งที่ดีกับจิตใจของเรา สมาธิหล่อหลอมจิตใจของเรามาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งมาถึงจุดที่เรารู้สึกว่า เราอยากบวช ก็เลือกที่นี่ เพราะคิดว่าที่นี่เป็นที่ที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว และก็มีโอกาสนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากจะได้ พอเข้ามาแล้วก็มุ่งหวังเรื่องของการปฏิบัติธรรมหรือนั่งสมาธิเป็นหลัก เพราะว่าเราเกิดความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่หลวงปู่วัดปากน้ำท่านเข้าถึงที่เรียกว่าธรรมกายมีอยู่จริงๆ แล้วก็วิธีการก็มีอยู่ เหลืออยู่ว่าแค่เราพาตัวไปถึงจุดๆนั้น นี่คือหัวใจใหญ่

เป้าหมายหลวงพี่อยากบรรลุวิชชาธรรมกายหรือ?

คำตอบคือ ใช่ เป็นจุด(ประสงค์)ใหญ่จุดหนึ่งเลย

ที่มาของภาพ : http://www.kalyanamitra.org/th/

จุด(ประสงค์)รองจุดอื่นๆ คืออะไร?

จุดอื่นๆก็คือ การได้ชีวิตที่มีความสงบนะ คือตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีความสงบมากมายอะไร เพราะเราไม่เคยได้สัมผัสชีวิตความเป็นพระ แต่พอเราบวชแล้วมีโอกาสเข้ามาอยู่ตรงนี้ เราพบว่าชีวิตพระเป็นชีวิตที่เรียบง่าย สงบและก็ไม่วุ่นวาย ก็เป็นชีวิตที่ชอบ

หลวงพี่ก็พอใจกับชีวิตที่สงบๆ เรียบๆ ง่ายๆ อยู่แล้วใช่หรือไม่?

หลวงพี่คิดว่า คนที่มาอยู่ตรงนี้ ต้องมีพื้นฐานความคิดที่เหมาะกับวิถีชีวิตแบบชาววัด เพราะว่าความจริงหลายๆคนที่ใจยังมีความสนุกสนาน อยากจะไปนู่น นี่ นั่น มาอยู่ในสภาพแบบนี้ก็คงอยู่ลำบาก แต่ว่าเราเป็นคนที่ชอบในแบบนี้อยู่แล้ว จึงทำให้ไม่ต้องไปฝืนอะไรมาก

การที่หลวงพี่มองไปที่เป้าแรกคือวิชชาธรรมกาย หลวงพี่ตั้งเป้าหรือคิดว่าวิชชาธรรมกายจะช่วยอะไรหลวงพี่? หลวงพี่ถึงสนใจที่อยากมาฝึกตรงนี้

คำว่า วิชชาธรรมกาย ความจริงเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกกัน แต่ตัวหลักจริงๆก็คือ เราต้องใช้คำว่า ธรรมกาย เพราะ ธรรมกาย เป็น กายตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อันนี้คือ หลวงปู่(วัดปากน้ำ) ท่านค้นเจอมา ส่วนว่าในสายปฏิบัติอื่นๆว่าอย่างไรเราก็ไม่ต้องไปแตะนะ เพราะว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ ธรรมกายคือกายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้ตรัสรู้ธรรม

ส่วนวิชชาธรรมกายก็คือการอาศัยธรรมกาย ซึ่งเป็นกายตรัสรู้ธรรมของท่าน ไปศึกษาความจริงของชีวิต ซึ่งจริงๆก็อาศัยธรรมกายนี่แหละ ไปทำให้เกิดความรู้แจ้งภายใน  ซึ่งถ้าพูดภาษาให้ง่ายที่สุด คือ จะหมดกิเลสได้ต้องอาศัยธรรมกายเพราะว่าท่านเป็นกายที่ใช้ในการเห็นกิเลส กำจัดกิเลสไปจนกระทั่งถึงเราหมดกิเลส

ที่มาของภาพ : http://www.dmc.tv

เหมือนเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์ธรรมดาๆอย่างเรา ได้เข้าสู่นิพพานใช่ไหม? ในมุมมองของหลวงพี่และศิษย์วัดพระธรรมกาย

ใช่

การอยู่วัดพระธรรมกายไม่ใช่เรื่องง่าย ตามที่เราเคยคุยกันมา ว่าวัดนี้ธรรมดาหรือไม่ธรรมดา มีข่าวเข้ามาตลอด หลวงพี่สามารถอยู่ในสภาวะนี้ได้อย่างไร หลวงพี่คิดอย่างไร กับเรื่องราวที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโจมตี?

มันเป็นเรื่องของความเข้าใจนะ ในความเห็นของหลวงพี่ เนื่องจากว่าไม่ใช่เพิ่งเริ่มมีคนไม่เห็นด้วยในยุคนี้ ความจริงแล้วในยุคของหลวงปู่เอง ก็ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วย ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วที่มีการเรียก  ธรรมกลาย เป็นการแปลงศัพท์เพื่อที่จะให้คำนี้เป็นคำที่ล้อเล่น และก็มีหลายคนที่ก็บอกว่าธรรมกายไม่ได้มีจริง บางคนก็บอกว่าเป็น สมถะ ไม่ได้เป็น วิปัสสนา  บางคนก็บอกว่าเป็นนิมิตที่เห็นขึ้นมา เห็นก็จริง แต่ว่าไม่ได้มีอะไรวิเศษพิสดาร ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เค้าไม่เห็นด้วยก็ยังคงไม่เห็นด้วยอยู่ แต่ว่าหลวงปู่ท่านก็ทำของท่านมาเรื่อยๆ 

เราเองเรามาในยุคหลัง พอเรามาเจอภาพเดียวกัน จึงไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ เรื่องนี้โดยศัพท์เทคนิคในพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า ปัจจัตตัง ก็คือว่า ต้องไปรู้เห็นด้วยตัวของเราเอง ดังนั้น เราก็พิสูจน์ด้วยตัวของเราเอง หลวงพี่ไม่ได้ใส่ใจว่าคนข้างนอกจะมองเห็นว่า คำว่า ธรรมกาย เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง มันไม่ได้เข้ามาอยู่ในใจ 


พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

       เรื่องนี้ต้องใช้การปฏิบัติด้วยตัวเราเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากเหมือนกัน ถ้าคนไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติ หรือไม่ได้มีประสบการณ์ด้วยตัวเอง และยากสำหรับคนที่เค้าทำไม่ได้ หลวงพี่เองก็ไม่ใช่ว่าทำได้นะ เราก็ทำยังไม่ได้ว่าไปถึงไหน ขออุปมาอย่างนี้ว่า

ถ้ามีคนบอกเราว่า ถ้าจะเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ เมื่อเดินทางก็จะผ่านจังหวัดเหล่านี้ เช่น อยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ ไปเรื่อย ลำปาง จนเชียงใหม่ แล้วเราก็ลองออกเดินทางตามที่เค้าบอก ถ้าการเดินทางครั้งแรกเราไปเจอเพชรบุรีเลย เราก็คงจะสงสัยว่ามาถูกหรือ เราก็คงจะสับสน เพราะจังหวัดแรกที่เจอก็ไม่ใช่อยุธยาแล้ว ต่อไปจะไปเจอเชียงใหม่มั้ย ถ้าเราไปต่อ แล้วเจอสุราษฎร์ เราก็คงสงสัยว่าใช่เหรอ?  แต่ถ้าเราไปแล้วเจอจังหวัดอยุธยาจริง ก็จะรู้สึกว่า อยุธยาก็มีตามที่เค้าบอกจริง เชียงใหม่ก็น่าจะมี 

วิธีการเป็นแบบเดียวกัน คือ การปฏิบัติธรรมแบบที่หลวงปู่ท่านสอน พอเริ่มปฏิบัติไปแล้ว ก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะสามารถจะทำตามอย่างที่ท่านสอนได้มากน้อยแค่ไหน แต่หลวงพี่เชื่อว่า หลายคนโดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัด เช่นเป็นพระ จะได้ประสบการณ์จากการนั่งสมาธิในบางส่วน ในระดับที่เราพอเชื่อมั่นได้ว่า ตรงนั้นน่าจะมี 

ที่มาของภาพ : http://www.kalyanamitra.org/th/

     เหมือนหลวงพี่อยู่ในขั้นตอนของการเดินทาง แล้วก็พบกับขั้นต่างๆตามที่ได้บอกไว้ในลายแทงที่หลวงพี่กำลังเดินตามอยู่ แล้วหลวงพี่ก็คิดว่า หลวงพี่ได้มาถูกเส้นทางนี้แล้ว จึงทำให้หลวงพี่ยังอยู่ในสมณเพศและอยู่ที่วัดพระธรรมกายนี้ใช่หรือไม่?

คำตอบ คือ ไม่ใช่ (ณ จุดๆนี้ ผู้ถามเริ่มงงเล็กน้อย แต่ก็อยากจะรู้ว่า อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงกันแน่) 

การมาอยู่ที่วัดพระธรรมกายนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องใหญ่จริง แต่ว่าการที่จะมาอยู่ในวัด คือการเอาชีวิตเข้ามาฝากในพระศาสนา คนที่มาวัดไม่จำเป็นต้องมาบวชทุกคน บางคนก็ทำมาหากิน และก็รักในการปฏิบัติธรรม เหมือนกับในสมัยพุทธกาลที่ ก็มีบางส่วนมาเป็นพระ บางส่วนมาเป็นโยม เป็นสาธุชน แต่ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมได้เหมือนกัน 

นอกจากความรักในการปฏิบัติธรรม รักในการนั่งสมาธิ เจริญภาวนาแล้ว ยังต้องมีความคิดด้วยว่า เราอยากจะทุ่มเทให้กับเรื่องตรงนี้จริงๆ แล้วเราก็ต้องมานั่งคิดตัดสินใจว่า แล้วเราใช้ชีวิตตรงนี้มันไหวไหม  ไปใช้ชีวิตข้างนอกมันง่ายนะ แล้วเราคุ้นเคยกับชีวิตข้างนอกมา อยู่ดีๆจะมาอยู่อย่างนี้ จะอยู่ได้หรือ 
  
สำหรับบทสนทนากับพระอาจารย์จุมพลนั้น ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ โปรดติดตามต่อได้ใน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น